มีอาการป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉินไม่ไป รพ. ตามสิทธิได้ไหม
คำพิพากษาฎีกาที่ 13826/2555
นางสาวอรสา สุทธิวงศ์ โจทก์
สำนักงานประกันสังคม จำเลย
เรื่อง 1. มีอาการป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ไปโรงพยาบาลตามสิทธิได้ไหม
2. ป่วยในภาวะฉุกเฉินหมายถึงอะไร
3. ขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล โดยยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยจะได้ไหม
4. คดีนี้จ่ายเงินรักษาไปเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2548 กว่าศาลฎีกาจะตัดสิน 24 กันยายน 2555
และอ่านคำพิพากษา 20 พฤษภาคม 2556
5. ลูกจ้างควรเลือกโรงพยาบาลตามสิทธิอย่างไร
6. ควรแนะนำลูกจ้าง ที่พักอาศัยคนเดียวยังไงดี
1.โจทก์ฟ้องว่า เป็นลูกจ้างของบริษัทฟูจิคูระ เจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เดือนตุลาคม 2548 โจทก์ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ญาตินำส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แพทย์ได้ทำการตรวจรักษาแล้ว จ่ายยาแก้ปวดให้ อาการของโจทก์ไม่ดีขึ้น 15 พฤศจิกายน 2548 ปวดท้องอย่างรุนแรง โจทก์ขอรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แพทย์จึงตรวจอัลตร้าซาวด์และนัดให้มาฟังผลการตรวจในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 โจทก์กลับจากโรงพยาบาลถึงบ้าน อาการปวดท้องได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนวันรุ่งขึ้น วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 มีญาติมาพบว่าโจทก์หมดสติ มีอาการป่วยหนัก ระดับความรู้สึกและความดันโลหิตลดลงมาก โจทก์ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินเป็นอันตรายต่อชีวิตจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน ญาติจึงตัดสินใจนำโจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนนทเวชซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านโจทก์ที่สุด แพทย์โรงพยาบาลนนทเวชเห็นสมควรให้โจทก์รับการผ่าตัดโดยด่วนเพื่อรักษาชีวิตของโจทก์ โจทก์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลนนทเวชซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชน แล้วยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยจำนวน 69,746 บาท สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งไม่จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยดังกล่าว และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยที่ 432/2550 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2550 ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยมีความเห็นว่าเป็นความประสงค์ของโจทก์เองที่ไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวช โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลย โดยให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนทางการแพทย์ตามกฎหมายแก่โจทก์
2.จำเลยให้การว่า โจทก์เลือกโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นโรงพยาบาลที่กำหนดในบัตรรับรองสิทธิ โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย อ้างว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ขณะโจทก์อยู่ที่บ้าน โจทก์มีอาการปวดท้องมากครองสติไม่อยู่จนหมดสติ เพื่อนบ้านจึงนำโจทก์ส่งโรงพยาบาล นนทเวชแพทย์ให้การรักษาโดยการผ่าตัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 และพักรักษาถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เสียค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงิน 82,506 บาท โจทก์ใช้สิทธิเบิกจากบริษัทฟูจิคูระ แล้วเป็นเงิน 12,760 บาท คงเหลือที่โจทก์ต้องจ่ายเองเป็นเงิน 69,746 บาท จึงขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ เนื่องจากโจทก์ไม่ประสงค์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิที่เลือกไว้ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ตรวจวิเคราะห์โรคด้วยการอัลตร้าซาวด์และนัดฟังผลตรวจวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 และแพทย์ได้เตรียมการผ่าตัดในการรักษาอาการเจ็บป่วยดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวชในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 จึงเป็นความประสงค์ของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
3.ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้แก้ไขคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 432/2550 เฉพาะส่วนที่ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนนทเวชแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ยังมิได้หักค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลจากบริษัทฟูจิคูระ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
4.ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคเนื้อเยื่อบุมดลูกเกิดผิดที่ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าทำอัลตร้าซาวด์แล้ว บันทึกว่าผู้ป่วยขอรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องและเตรียมเจาะเลือดก่อนผ่าตัด และนัดโจทก์มาฟังผลเลือด – ปัสสาวะ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 นัดตรวจอีกครั้งวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 เพื่อนบ้านโจทก์พบโจทก์นอนหมดสติอยู่ในบ้านได้นำส่งโรงพยาบาลนนทเวช ซึ่งอยู่ใกล้บ้านโจทก์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที ถ้าจะเดินทางไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง หากการจราจรไม่ติดขัด มีความดันโลหิตที่ 77/47 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งถือว่ามีอาการป่วยหนักหรือเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน โจทก์จึงวิงเวียนศีรษะและหมดสติ แต่ในวันนั้นแพทย์ยังมิได้ทำการผ่าตัดเพราะก่อนผ่าตัดต้องเตรียมให้ร่างกายผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่จะรับการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย และได้ทำการผ่าตัดในตอนเย็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวช เนื่องจากป่วยเจ็บฉุกเฉินหรือไม่ เห็นว่า เพื่อนบ้านโจทก์พบโจทก์ป่วยนอนหมดสติอาการหนักอยู่ภายในบ้าน จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลนนทเวชเพราะเห็นว่าอยู่ใกล้บ้านที่สุด ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที หากนำส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เช่นนี้ย่อมชอบด้วยเหตุผลแล้ว ระยะเวลาของการเตรียมการผ่าตัดเพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัดย่อมอยู่ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกับความฉุกเฉินที่จะต้องผ่าตัดทันทีและย่อมมีต่อเนื่องตลอดมา การที่จะให้โจทก์ซึ่งป่วยเจ็บหนักเช่นนี้มีความคิดที่จะเปลี่ยนเป็นเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวชจึงมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
พิพากษายืน
รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
C63