คำพิพากษาที่ 5681-5684/2554

นายประเสริฐ โกศัยดิลก ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน โจทก์

บริษัทไทย โอ.พี.พี. จำกัด (มหาชน) จำเลย

เรื่อง 1. การบอกเลิกสัญญาจ้างทำด้วยวาจาได้ไหม
2. ลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าแต่นายจ้างเลิกจ้างก่อนถึงกำหนดวันลาออกผลจะเป็นอย่างไร

1. โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 โดยไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงว่าโจทก์แต่ละคนได้ทำงานมานานเท่าใดและงานที่ทำเป็นงานอย่างไร โจทก์ที่ 3 ฟ้องว่า ยื่นใบลาออก โดยให้มีผลวันที่ 31 มีนาคม 2546 แต่จำเลยเลิกจ้างทันทีตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 การที่จำเลยเลิกจ้างก่อนการลาออกมีผล ทำให้โจทก์ที่ 3 ได้รับความเสียหายต้องขาดรายได้ ขอเรียกค่าเสียหาย 108,000 บาท และค่าจ้างค้าง 21,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3

2. จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 ลาออกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ที่ 3 นำรถประจำตำแหน่งมาคืนและหลังจากนั้นไม่ได้กลับเข้ามาทำงานให้แก่จำเลยอีก จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยด้วยวาจาต่อนายสุธี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งนายสุธีอนุมัติการลาออกด้วยวาจาแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จะขอกลับเข้าทำงาน โดยอ้างว่าการลาออกยังไม่มีผล จำเลยเห็นว่าโจทก์ดังกล่าวทุจริตและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายรวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยเรียกจากโจทก์ทั้งสี่ทั้งสิ้น 10,849,610.40 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 10,849,610.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป

3. โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งเคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำการใด ๆ ให้จำเลยได้รับความเสียหาย

4. จทก์ที่ 3 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายแจ้งให้โจทก์ที่ 3 นำรถประจำตำแหน่งไปคืน และสั่งให้ไม่ต้องมาทำงานตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ที่ 3 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง โจทก์ที่ 3 ไม่เคยร่วมกับโจทก์อื่น ๆ ลักสินค้าของจำเลย ฟ้องแย้งเคลือบคลุมและขัดแย้งกันเอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

5. โจทก์ที่ 5 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 5 ไม่ได้ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจำเลยกำหนดขึ้นโดยปราศจากฐานความจริงเป็นการเรียกร้องลักษณะแก้เกี้ยว เพื่อเหตุต่อรองและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ขอให้ยกฟ้องแย้ง

6. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ค่าตอบแทนการขาย (ค่าคอมมิชชั่น) ให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานมีข้อความว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้ทำงานมานานเท่าใดและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรให้แก่ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสียโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

7. คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ข้อ 2.2 ว่า การที่โจทก์ที่ 2 แสดงเจตนาขอลาออกด้วยวาจาต่อนายจ้าง มีผลทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงหรือไม่ เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งคู่สัญญาไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น จึงอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ส่วนการเลิกสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา นายจ้างหรือลูกจ้างจึงบอกกล่าวเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 2 แสดงเจตนาขอลาออกด้วยวาจาต่อนายจ้างย่อมมีผลทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

8. พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com