บริษัท เคมีเคิลเฮ้าส์ แอนด์ แล็บอินสทรูเม้นท์ จำกัด โจทก์
นายไพบูลย์ จีรัตน์ จำเลย
เรื่อง 1. สัญญาของนายจ้างที่ให้ลูกจ้างตกลงว่าจะกลับมาทำงานให้นายจ้างมีกำหนด 3 ปีและจะไม่ไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบธุรกิจการค้าเดียวกับโจทก์อันเป็นการแข่งขัน เนื่องจากนายจ้างได้ส่งลูกจ้างไปฝึกอบรมในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความชำนาญในผลิตภัณฑ์ที่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่าย สามารถบังคับได้หรือไม่
2. และหากลูกจ้างผิดสัญญาลาออกก่อนกำหนดและเข้าเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับนายจ้างแล้วจะต้องรับผิดอย่างไรบ้าง
1. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์เมื่อเดือนเมษายน 2539 ตำแหน่งพนักงานผู้ชำนาญการด้านผลิตภัณฑ์และโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของสินค้าผลิตภัณฑ์ของบริษัท ปีโตรเทส จำกัด บริษัท กราบเนอร์ อินสทรูเมนท์ เมสเทคนิค จีอีเอส เอ็มบีเอช และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ไซแอนทิฟิค แล็ปบอราทอรี จำกัด บริษัท ทินโทมิเตอร์ จำกัด บริษัท นอมชีพ กีราตาโบว์ จำกัด โจทก์ได้ส่งจำเลยไปศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศหลายครั้ง ทำให้จำเลยมีความรู้ ความชำนาญในผลิตภัณฑ์ที่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยต้องกลับมาทำงานให้โจทก์มีกำหนด 3 ปี จะไม่ไปทำงานกับบริษัทหรือนายจ้างอื่นที่ประกอบธุรกิจการค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกับโจทก์อันเป็นการแข่งขัน หลังจากเดินทางกลับจากศึกษาและฝึกอบรม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยได้ยื่นหนังสือลาออก จำเลยยังได้เข้าเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท ทินโทมิเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์และเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ และจำเลยเข้าเป็นพนักงานในบริษัท แอพพลายด์ ไซแอนทิฟิค อินสตรูเม้นท์ส จำกัด โดยจำเลยยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของบริษัททั้งสองดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 5,573,810 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยหยุดประกอบกิจการและหรือเลิกทำงานกับนายจ้างที่ประกอบกิจการค้าที่มีลักษณะเดียวกับโจทก์อันเป็นการแข่งขันและแสวงหาประโยชน์ มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
2. จำเลยให้การว่า การที่บริษัท ทินโทมิเตอร์ จำกัด บริษัท ปีโตรเทส จำกัด และบริษัท นอมชีพ กีราตาโบว์ จำกัด ยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์มิได้เกิดเพราะจำเลย แต่เป็นเพราะความบกพร่องในการบริหารของโจทก์เอง ที่โจทก์ฟ้องไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง
4. โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า สัญญาหรือกฎระเบียบที่ให้ลูกจ้างกลับจากการศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศต้องทำงานให้แก่นายจ้างครบ 3 ปีก็ดี พ้นจากการเป็นลูกจ้างจะไม่ประกอบธุรกิจหรือไปทำงานกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะอย่างเดียวกับธุรกิจ และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของนายจ้างฟังไม่ได้ว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นโมฆะ แต่ข้อห้ามที่ไม่ให้จำเลยประกอบธุรกิจหรือไปทำงานกับบริษัทอื่นที่แข่งขันกับธุรกิจของนายจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาหรือมีกำหนด 3 ปี เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยให้ต้องรับภาระมากเกินไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง เห็นสมควรให้มีผลบังคับได้เพียง 2 ปี จำเลยลาออกไปตั้งบริษัทและเป็นกรรมการบริหาร ของบริษัททั้งสองแห่ง โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ต้องรับผิด สมควรกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์คิดเป็นเงินปีละ 200,000 บาท รวม 2 ปี เป็นเงิน 400,000 บาท
5. จำเลยอุทธรณ์ประการแรก (ข้อ 2.1) ความว่าสัญญาเอกสารมิได้ใช้บังคับแก่การเดินทางไปต่างประเทศครั้งอื่นๆ และจำเลยลาออกจากบริษัทโจทก์แล้วเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จำเลยจึงมิได้ฝ่าฝืนสัญญา ทั้งๆ ที่ข้อห้ามตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลา อุทธรณ์ของจำเลย จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ข้อห้ามตามสัญญาเอกสารขัดต่อเสรีภาพ ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย มิได้เป็นการห้ามจำเลยประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้อย่างเด็ดขาด จำเลยสามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงที่ห้ามได้ จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจย่อมมีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น การถูกบอกเลิกการเป็นตัวแทนเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ผลิตในต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานใดส่อชี้ว่าจำเลยมีส่วนทำให้โจทก์ถูกบอกเลิกการเป็นตัวแทน ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายโดยอาศัยการที่โจทก์ถูกบอกเลิกสัญญาตัวแทนของบริษัทต่างประเทศเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยใช้อุบายลาออกโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แล้วแอบไปดำเนินการก่อตั้งบริษัทและเป็นกรรมการบริหารของบริษัทใหม่สองบริษัทแข่งขันกับกิจการของโจทก์ก่อความเสียหายให้โจทก์ จำเลยต้องรับผิด ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์บางส่วนนั้น ไม่เป็นความจริง
จำเลยอุทธรณ์ประการที่สาม กฎระเบียบการส่งพนักงานของโจทก์ไปศึกษาและฝึกอบรมในต่างประเทศตามเอกสารนั้น ย่อมไม่ผูกพันจำเลยเพราะไม่ได้เกิดจากข้อตกลงหรือสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลย เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ภายหลังจากจำเลยได้ลาออกจากบริษัทโจทก์แล้ว จึงไม่ผูกพันจำเลย
รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/30)
www.paiboonniti.com