คำพิพากษาฎีกาที่ 13816/2555
นายอุดร กล้าหาญ โจทก์
บริษัท สยามเทเบิ้ลแวร์ จำกัด จำเลย
เรื่อง 1. วิธีคำนวณค่าบอกกล่าวเลิกจ้างคิดอย่างไร
2. หากเลิกจ้างโดยไม่ไว้วางใจ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไหม
3. เลิกจ้างเป็นธรรม แต่ทำไมต้องจ่ายค่าบอกกล่าว
1. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2539 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 266 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 3 และ 18 ของเดือน ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยโดยโจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่อ้าง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24 วัน 6,384 บาท แต่จำเลยจ่ายให้เพียง 2,128 บาท ยังคงค้างจ่ายอยู่อีก 4,256 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาท
2. จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างโดยการเขียนใบเบิกวัสดุเท็จไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อตัดสต๊อก การกระทำดังกล่าวทำให้น้ำมันโซล่าของจำเลยสูญหายเป็นจำนวนมาก จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,714 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
4. จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
5. ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าหลังจากที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานและจำเลยให้ลูกจ้างคนอื่นทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายน้ำมันแทนปรากฏว่าได้มีจำนวนการเบิกจ่ายน้ำมันลดลงจำนวนมาก จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไปได้ การเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ แต่ในข้อที่ว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น เมื่อจำเลยไม่สามารถนำเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้างโจทก์ได้ ย่อมหมายความว่าการเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้าง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันที่ 3 และ 18 ของเดือนและจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้ถือว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 3 มกราคม 2550 และมีผลเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายในวันที่ 18 มกราคม 2550 เป็นระยะเวลาที่จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2550 รวม 29 วัน คำนวณจากค่าจ้างของโจทก์วันละ 266 บาท คิดเป็นเงิน 7,714 บาท
6. ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับมามีเพียงประการเดียวว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำนวน 7,714 บาท เกินคำขอของโจทก์ที่ขอมาเพียง 4,256 บาท ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” บทบัญญัติแห่งมาตรานี้แสดงว่าศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องได้ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ระยะเวลาที่จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวม 29 วัน คำนวณค่าจ้างของโจทก์วันละ 266 บาท คิดเป็นเงิน 7,714 บาท คำวินิจฉัยดังกล่าวมิได้แสดงเหตุผลว่าสมควรพิพากษาเกินคำขอเพื่อความเป็นธรรมอย่างไร การที่ศาลแรงงานกำหนดให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่ศาลแรงงานกลางคำนวณได้จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 52 ดังกล่าวนั่นเอง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง จำนวน 4,256 บาท แก่โจทก์ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อได้ความว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เป็นเงิน 7,714 บาท ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เป็นเงิน 7,714 บาท ได้ ตามความเป็นธรรมที่คู่ความสมควรได้รับตามมาตรา 52 ได้ แต่เมื่อโจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แล้ว 2,128 บาท จึงต้องนำสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่จ่ายให้แล้วดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทั้งหมดที่ศาลแรงงานกลางคำนวณได้ จำเลยยังคงต้องรับผิดชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะส่วนที่ค้างจ่ายอยู่อีกจำนวน 5,586 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
7. พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยจ่ายให้โจทก์จำนวน 5,586 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
.
รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
Code : 30