นางอัญชลี อาศิรวาท โจทก์
บริษัทอิ่มอารมณ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลย
เรื่อง 1. ระเบียบการลาป่วยที่ดีควรเขียนอย่างไร
2. นายจ้างระบุเหตุเลิกจ้างว่าทำเงินเดือนจ่ายให้คนงานไม่ทันแต่ศาลฟังว่าทำจ่ายทันกำหนด ผลจะเป็นอย่างไร
3. หนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องมีสาระสำคัญอย่างไร
1.โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่บัญชี-การเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ30,000 บาท จ่ายทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 และให้จ่ายค่าชดเชยจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5
2.จำเลยให้การว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2550 โจทก์ละทิ้งหน้าที่หยุดงานโดยมิได้ยื่นใบล่วงหน้า ผู้บังคับบัญชาตรวจรายการเงินเดือนพนักงานแล้วเห็นว่าโจทก์มิได้หักค่าจ้างของโจทก์ออกเนื่องจากโจทก์ขาดงาน โจทก์แสดงกิริยาวาจากระด้างกระเดื่องใช้คำพูดท้าทายผู้บังคับบัญชา อีกทั้งเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขหรือแจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบทำให้จำเลยเสียหาย ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานได้ตรงตามกำหนด โจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและละทิ้งหน้าที่การงาน ผู้บังคับบัญชาออกหนังสือเตือนแล้ว 3 ครั้ง ขอให้ยกฟ้อง
3.ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
4.ศาลฎีกา วินิจฉัยว่าระเบียบการลาป่วยต้องส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติงาน ถ้าป่วยติดต่อกันเกิน 3 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ โจทก์ลาป่วยวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 โดยยื่นใบลาวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันแรกที่โจทก์มาปฏิบัติงานและโจทก์ลาป่วยเพียง 1 วัน ตามระเบียบไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ การที่นายประยูรไม่อนุญาตให้ลาป่วยเพราะไม่มีใบรับรองแพทย์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิลาป่วยได้โดยชอบ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 โจทก์ทำบัญชีจ่ายเงินเดือนเสนอขออนุมัติต่อนางสาวศรีวราเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ถือว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ตามกฎระเบียบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
โจทก์นำเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างจำเลยไม่ทันในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ก็เพราะเหตุนางสาวศรีวราให้โจทก์นำใบลาของพนักงานลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งของโจทก์ด้วยไปให้นายประยูรหรือนายประวิทย์มีคำสั่งเรื่องตัดค่าจ้างเสียก่อน แต่ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 นายประยูรกลับมาถึงบริษัทจำเลยตอนเย็นและนายประวิทย์ก็ไม่กลับเข้ามา โจทก์จึงไม่สามารถเสนอใบลาให้นายประยูรมีคำสั่งได้ทัน ซึ่งต่อมาวันที่ 28 และ 29 ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดงาน ส่วนวันที่ 30 เป็น วันหยุดชดเชย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 โจทก์จึงได้เสนอใบลาให้นายประยูรมีคำสั่งเรื่องตัดค่าจ้างตั้งแต่เช้า และโจทก์ทำบัญชีจ่ายเงินเดือนเสนอขออนุมัติต่อนางสาวศรีวรา นางสาวศรีวราอนุมัติโจทก์จึงนำเงินเดือนเข้าบัญชีของพนักงานลูกจ้างจำเลยในวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ซึ่งตามระเบียบกำหนดจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของจำเลยในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน การปฏิบัติหน้าที่การงานของโจทก์จึงไม่มีความบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างและไม่มีเจตนา ไม่จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การที่จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวและค่าชดเชย
5.ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า หนังสือของจำเลยที่มีถึงโจทก์ลงวันที่ 17 เมษายน 2549 เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) หรือไม่ และหนังสือเตือนของจำเลยที่มีถึงโจทก์ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ยังมีผลบังคับได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว หนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) วรรคหนึ่งจะต้องมีข้อความระบุถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของลูกจ้างพร้อมทั้งห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีก แต่เอกสารหมาย ล.3 มิได้มีข้อความดังกล่าวที่ชัดเจน เพียงระบุว่าโจทก์กระทำผิดอย่างไรอันเป็นเหตุให้กรรมการบริหารจำเลยต้องสั่งลดเงินเดือนลง 5,000 บาทต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นไปเท่านั้น เอกสารหมาย ล.3 จึงมิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมาย แต่เป็นเพียงหนังสือแจ้งเหตุผลที่จำเลยลดเงินเดือนโจทก์แต่เพียงอย่างเดียว ในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.4 นั้น มาตรา 119 (4) วรรคสอง บัญญัติว่า หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด ในวันดังกล่าวหนังสือเตือนไม่มีผลบังคับเพราะล่วงพ้นเวลาใช้บังคับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว
6.พิพากษายืน
รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com