คำพิพากษาฎีกาที่ 11182/2553
บริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิค ( ประเทศไทย ) จำกัด โจทก์
นางสุวรรณนา ขันติวิศิษฎ์ จำเลย
เรื่อง 1. นายจ้างได้ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณี ตามพ.ร.บ. คุ้มครองฯ ม.29 โดยมิได้รวมวันหยุดประเพณี 12 วัน และเปลี่ยนไปเป็นวันหยุดอื่นแทนโดยลูกจ้างยินยอม ถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่
2. เมื่อนายจ้างได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้เมื่อลูกจ้างทำงานในวันที่นายจ้างประกาศกำหนดเป็นวันหยุดประเพณีแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีให้แก่ลูกจ้างอีกหรือไม่ นายจ้างอ้างเหตุจ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมได้หรือไม่
1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน ได้มีคำสั่งที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีแก่นางสาวสมพร แย้มนัดดา กับพวกรวม 437 คน อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยมิได้มีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องและมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายให้ขยายระยะเวลาในการออกคำสั่ง โจทก์มิได้ประกาศกำหนดวันรวม 12 วัน คือ วันที่ 14 กรกฎาคม 2546 (วันเข้าพรรษา) วันที่ 23 ตุลาคม 2546 (วันปิยมหาราช) วันที่ 10 ธันวาคม 2546 (วันรัฐธรรมนูญ) วันที่ 6 เมษายน 2547 (วันจักรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2547 (วันฉัตรมงคล) วันที่ 2 มิถุนายน 2547 (วันวิสาขบูชา) วันที่ 1 สิงหาคม 2547 (วันเข้าพรรษา) วันที่ 5 ธันวาคม 2547 (วันเฉลิมพระชนมพรรษา) วันที่ 10 ธันวาคม 2547 (วันรัฐธรรมนูญ) วันที่ 6 เมษายน 2548 (วันจักรี) วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 (วันแรงงาน) วันที่ 5 พฤษภาคม 2548 (วันฉัตรมงคล) ให้เป็นวันหยุดตามประเพณี โจทก์จะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดครบถ้วนตามกฎหมาย จึงซ้ำซ้อนกับที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
2. จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายโดยได้ขอขยายเวลาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล ต่อมาได้รับพิจารณาอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน การที่โจทก์ประกาศวันหยุดตามประเพณีของโจทก์โดยเลื่อนหรือเปลี่ยนไปหยุดวันอื่นแทนนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถือว่าโจทก์ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีน้อยกว่า 13 วัน โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
3. ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จ่ายตามคำสั่งจำเลย
4. ศาลฎีกาเห็นว่า วันหยุดตามประเพณีตามมาตรา 29 มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างมีโอกาสหยุดงานเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามประเพณี หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นายจ้างไม่สามารถกำหนดวันหยุดอื่นมาชดเชยประกอบกับสภาพของงานที่ลูกจ้างทำงาน การที่โจทก์กำหนดวันหยุดอื่นแทนวันหยุดตามประเพณีจึงไม่ชอบ ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลย แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ โจทก์จึงยังคงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวที่จะต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าว หากให้ลูกจ้างมาทำงานก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมาย การที่โจทก์กำหนดให้วันทำงานปกติของลูกจ้างเป็นวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณี ไม่อาจนำเอาเหตุที่ได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างยอมรับค่าจ้างมาอ้างว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอม หากโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งตามคำสั่งของจำเลย
5. พิพากษายืน
รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com