Site icon ทนายแรงงาน ไพบูลย์นิติ ที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน

ทำสัญญาจ้างคราวละ 6 เดือน รวม 6 ครั้ง เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอนหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 11912/2553

นายชลยุทธ เดชะคุปต์ โจทก์

บริษัท กันกุล เทรดดิ้ง แอนด์ เอเยนซี่ จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. ทำสัญญาจ้างโจทก์คราวละ 6 เดือน รวม 6 ครั้ง เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอนหรือไม่

2. จ้างคราวละ 6 เดือน ต้องนับอายุงานรวมกันไหม

3. จ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท เป็นค่าจ้างไหม

4. ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไหม

5. ทำสัญญาจ้างไว้แน่นอน ถ้าเลิกจ้างเลยสัญญาผลจะเป็นเช่นไร

6. ถ้าทำสัญญาจ้างคราวละ 6 เดือน เมื่อเลิกจ้างถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไหม

1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งนายเรือประจำเรือเดินทะเลระหว่างประเทศจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน รวม 6 ครั้ง ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท จำเลยสั่งให้โจทก์ทำหน้าที่นายเรือประจำเรือกิมจิ่งนำเรือไปต่างประเทศและเดินทางกลับถึงประเทศไทยประมาณ 30 เมษายน 2547 เมื่อสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายครบกำหนดวันที่ 15 เมษายน 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่ไม่ได้กระทำความผิดและบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

2. จำเลยให้การว่า สัญญามีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้แน่นอนตามสัญญาจ้างที่โจทก์และจำเลยตกลงกันเป็นคราวๆไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเอาระยะเวลาการจ้างแต่ละคราวมารวมกันเพื่อเรียกร้องเงินตามฟ้อง จำเลยและโจทก์ทำสัญญาจ้างกันครั้งสุดท้าย มีเงื่อนไขว่าหากเรือที่โจทก์ทำงานเดินทางกลับมาถึงเมืองท่ากรุงเทพมหานครภายหลังวันครบกำหนดสัญญาจ้าง มิให้ถือว่าเป็นการต่ออายุสัญญาจ้างหรือเป็นการจ้างโดยมิได้กำหนดเวลาแต่อย่างใด สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนและสิ้นสุดลงตามกำหนด จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีสิทธินำเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท มารวมคำนวณเพราะไม่ใช่ค่าจ้าง

3. ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การที่จำเลยให้โจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกันถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่ให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงต้องนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกัน จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

4. ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ปฏิบัติงานบนเรือเป็นอัตราแน่นอนทุกเดือนระหว่างออกไปปฏิบัติงาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายเรือทำงานประจำบนเรือกิมจิ่งจะต้องปฏิบัติงานที่อื่นใดนอกจากบนเรือดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายโจทก์จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง เบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้าง

5. จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างกันคราวละ 6 เดือน การนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20 บัญญัติว่า การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118(3) จึงชอบแล้ว ส่วนกรณีเรือที่ลูกจ้างทำงานเดินทางกลับมาถึงเมืองท่ากรุงเทพมหานครภายหลังวันครบกำหนดสัญญาจ้าง มิให้ถือว่าเป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง หรือเป็นการจ้างโดยมิได้กำหนดเวลาแต่อย่างใด กำหนดระยะเวลาการทำงานตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นได้สองกรณีคือ ระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาหรือหากในวันครบกำหนดอายุสัญญาจ้าง ลูกจ้างยังอยู่ระหว่างการทำงานบนเรือนอกท่าก็ให้ครบกำหนดในวันที่เดินทางกลับมาถึงท่าเรือที่กรุงเทพ เมื่อโจทก์นำเรือกลับถึงท่าเรือกรุงเทพแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาว่าจ้าง สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com

Exit mobile version