Site icon ทนายแรงงาน ไพบูลย์นิติ ที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน

ข้อบังคับระบุให้รับเงินบำเหน็จ และค่าชดเชยเป็นสภาพการจ้างไหม

คำพิพากษาฎีกาที่ 12199-12223/2553

นายสุทิน สุวรรณประทีป ที่ 1 กับพวกรวม 25 คน โจทก์

บริษัทไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด จำเลย

เรื่อง (1)ข้อบังคับระบุให้รับเงินบำเหน็จ และค่าชดเชยเป็นสภาพการจ้างไหม
(2)ต่อมาแก้ไขว่าเงินบำเหน็จเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยโดยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจะทำได้หรือไม่
(3)เกษียณไปแล้ว แต่จ้างทำงานใหม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกไหม
(4)การขยายอายุเกษียณทำได้หรือไม่
(5)ข้อดีข้อเสียของการขยายอายุเกษียณ
(6)การแก้ไขสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต้องทำอย่างไร

1.โจทก์ทั้งยี่สิบห้าฟ้องว่าเป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบห้าโดยการเกษียณอายุ โจทก์ทั้งยี่สิบห้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งยี่สิบห้าไม่ครบถ้วน โจทก์ทั้งยี่สิบห้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายขาดดังกล่าว ส่วนโจทก์ที่ 13 เกษียณอายุ จำเลยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานโจทก์ที่ 13 ใหม่ แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ศาลบังคับ

2.จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าครบถ้วนแล้ว เพราะตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พ.ศ. 2537 ให้ถือว่าเงินบำเหน็จเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชย และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พ.ศ. 2542 กำหนดว่า ลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายและจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนเกินที่มากกว่าค่าชดเชย หากค่าชดเชยมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ สำหรับโจทก์ที่ 13 เกษียณอายุ จำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานใหม่ การที่โจทก์ที่ 13 ทำงานกับจำเลยต่อไป เพราะจำเลยและโจทก์ที่ 13 ตกลงขยายระยะเวลาเกษียณอายุของโจทก์ที่ 13 ออกไปอีก 1 ปี จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 13 ครบถ้วนแล้ว

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 25 พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี กับให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย 157,932 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 13 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

4.ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนต่างที่เกินกว่าเงินค่าชดเชยให้แก่พนักงานมาโดยตลอดและการที่จำเลยนำใบปะหลังที่มีข้อความว่า เงินบำเหน็จเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยตามกฎหมาย ไปติดหลังจัดทำระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ.2537 จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และจำเลยจัดทำระเบียบและข้อบังคับในการการทำงาน พ.ศ. 2542 โดยเพิ่มข้อความว่า พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ เว้นแต่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ได้รับมีจำนวนน้อยกว่าเงินบำเหน็จที่จะมีสิทธิได้รับให้ได้รับเงินบำเหน็จเพียงเท่ากับผลต่างระหว่างเงินบำเหน็จที่จะได้รับและเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น โจทก์ทั้งยี่สิบห้า พนักงานอื่นๆ และสหภาพแรงงานไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จำเลยปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับมาก่อนปี พ.ศ. 2542 และหลังปี พ.ศ. 2542 ถือเป็นการตกลงโดยปริยาย ไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 และ 15 เห็นว่า จำเลยเป็นบริษัทซึ่งมีสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จำเลยจึงต้องจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีรายการตามที่กำหนดเอาไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 108 ข้อกำหนดที่เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระหว่างจำเลยกับลูกจ้างข้อบังคับนี้ได้ใช้บังคับกับลูกจ้างแล้ว จำเลยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือออกคำสั่งใหม่อันจะมีผลให้ลูกจ้างต้องเสียประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหาได้ไม่ ตามระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ.2537 กำหนดให้ บริษัทฯ จะจ่ายบำเหน็จให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกรณีเกษียณอายุตามข้อบังคับของบริษัท ดังนั้นลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ตามระเบียบและข้อบังคับในการทำงานที่แก้ไขใหม่ในปี พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ เว้นแต่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ได้รับมีจำนวนน้อยกว่าเงินบำเหน็จที่จะมีสิทธิได้รับ ให้ได้รับเงินบำเหน็จเพียงเท่ากับผลต่างระหว่างเงินบำเหน็จที่จะได้รับและเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบระเบียบและข้อบังคับทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วเห็นได้ชัดแจ้งว่า ระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จนอกเหนือจากที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแก้ไขระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ. 2542 โดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์จึงเป็นการต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

5.คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยทุกปี ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีข้อความระบุว่า อนึ่งสภาพการจ้างใดที่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อตกลงให้คงไว้เดิม ถือว่าข้อความในระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ. 2542 (เกี่ยวกับเงินบำเหน็จ) เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยแล้ว เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงทั้งสองฉบับเป็นการตกลงเงินเพิ่มในส่วนของค่าจ้าง และการช่วยเหลือค่าครองชีพ มิได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในส่วนของเงินบำเหน็จแต่อย่างใด ประกอบกับได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยแก้ไขระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ. 2542 ในส่วนของเงินบำเหน็จโดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และข้อตกลงเกี่ยวสภาพการจ้างที่แก้ไขในส่วนของเงินบำเหน็จไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ดังนั้น ข้อความที่ระบุในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ว่า สภาพการจ้างอื่นให้คงไว้เหมือนเดิม จึงไม่อาจแปลความได้ว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน พ.ศ. 2542 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง และทำข้อตกลงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

6.ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้าย ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 13 เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 อันมีผลให้สัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุ การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 13 ในวันที่ครบกำหนดเกษียณอายุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยตกลงจ้างโจทก์ที่ 13 ทำงานต่อไปอีก 1 ปี หลังจากครบเกษียณอายุจึงเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ โจทก์ที่ 13 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com

Exit mobile version