คำพิพากษาฎีกาที่ 12037/2553
นายยุทธ สารจิตต์ โจทก์
บริษัท แกรนด์ โฮมมาร์ท จำกัด จำเลยที่ 1
นางบุณฑริกา เดชอุ่ม จำเลยที่ 2
เรื่อง 1. ม.19 การคำนวณระยะเวลาทำงานมีวิธีการนับอย่างไร
2. ลูกจ้างขาดงาน 1 วัน จะนับเป็นระยะเวลาทำงานไหม
3. ม.118 ให้นับระยะเวลาทำงานมีวิธีการนับอย่างไร
4. วันหยุด หมายความว่าอะไร
5. วันลา หมายความว่าอะไร
1. โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
เป็นเงิน 136,200 บาท แต่จำเลยที่ 1 จ่ายเพียง 68,100 บาท จึงเหลือค่าชดเชยที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายให้โจทก์อีก 68,100
บาท จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่ง 115/2548 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยให้เหตุผลว่าในระหว่างทำงานโจทก์ขาดงานไป
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2548 ไม่นับรวมเป็นระยะเวลาทำงานจึงมีระยะเวลาทำงานไม่ครบสามปี
2. จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อโจทก์ยอมรับว่าขาดงานจริงและยินยอมให้หักค่าจ้างในวันที่ 3 มกราคม 2548 ซึ่งตามพระราช
บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 19 ก็ไม่ได้ระบุให้นำวันที่โจทก์ขาดงานมานับรวมเข้าเป็นระยะเวลาทำงานของโจทก์
ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
3. จำเลยที่ 2 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
4. ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 มาตรา118 ได้กำหนดการนับระยะเวลาทำงานเพื่อคำนวณการจ่ายค่าชดเชยไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่าให้นับเวลาที่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกัน อันหมายความถึงการนับอายุงานมิใช่นับจำนวนวันที่ลูกจ้างมาทำงาน ทั้งในบทกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดข้อความหรือกำหนดให้นำวันที่ลูกจ้างขาดงานหักออกจากอายุงานในการคำนวณค่าชดเชยหรือกำหนดวิธีนับอายุไว้เป็นอย่างอื่นอีก ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 19ก็เป็นการกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการคำนวณระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของลูกจ้างเพื่อให้นำวันที่ระบุไว้ในบทกฎหมายดังกล่าวมานับเป็นระยะเวลาการทำงานด้วย ดังนั้น การนับเวลาการทำงานของโจทก์จึงต้องนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์เริ่มทำงานติดต่อกันจนถึงวันเลิกจ้างมีผล โจทก์จึงทำงานติดต่อกันครบสามปี
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 115/2548 ของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยส่วนที่เหลือจำนวน 68,099.99 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
5. ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118
บัญญัติว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้ (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบ
หกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน…… และมาตรา 19 บัญญัติว่าเพื่อประโยชน์ในการคำนวณ
ระยะเวลาการทำงานลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นับวันหยุด วันลา ที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง
และวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง รวมเป็นระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย ซึ่งวันหยุด
และวันลาตามมาตรา 5 หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี
วันลา หมายความว่า วันที่ลูกจ้างป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อการฝึกอบรม
หรือพัฒนาความรู้ความสามารถ หรือลาเพื่อคลอดบุตร จึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์ขาดงานไปในวันที่ 3 มกราคม 2548 โดยวันดัง
กล่าวมิใช่วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณีหรือหยุดพักผ่อนประจำ และโจทก์ขาดงานโดยมิได้ลา
ทั้งมิใช่วันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จึงไม่อาจนำเวลาที่ขาดงาน ซึ่งนายจ้างไม่ได้ประโยชน์
จากการทำงานของลูกจ้างมารวมเป็นระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง โจทก์จึงมิได้ทำงานติดต่อกันครบสามปี มีสิทธิได้รับ
ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (2) คำ
สั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรีที่ 115/2548 เรื่องค่าชดเชย จึงวินิจฉัย
ไว้ชอบแล้ว
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com